สถานการณ์พลังงานของประเทศและแนวทางการจัดการเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก
Thailand’s Energy Situation and Strategic Guidance for Reducing Greenhouse Gas Emission
Abstract
ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยจัดหาพลังงานขั้นต้น136,215 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีสัดส่วนการนำเข้ามากกว่าร้อยละ 50 มีการแปรรูปซึ่งมีการสูญเสีย และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมอื่นส่วนหนึ่ง เหลือใช้ในรูปของพลังงานขั้นสุดท้าย 80,752 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบเมื่อจำแนกตามประเภทของพลังงานขั้นสุดท้ายที่ใช้ ที่สำคัญเป็นน้ำมันสำเร็จรูปร้อยละ 50.1 ไฟฟ้าร้อยละ 20.5 พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 9.1 หากจำแนกตามสาขาเศรษฐกิจพบว่าใช้ในสาขาขนส่งร้อยละ 40 สาขาอุตสาหกรรมร้อยละ 35.2 โดยมีอัตราการเพิ่มของการใช้ในสาขาขนส่งสูงสุด คือร้อยละ 7.1 การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายและไฟฟ้าต่อหัวประชาชนยังมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปีการปล่อย CO2 จากการผลิตและการใช้พลังงานมีค่ารวม 258.8 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2560 การแปรรูปพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าปล่อย CO2 สูงสุด คิดเป็นร้อยละ 37 สาขาขนส่งร้อยละ 28 สาขาอุตสาหกรรมร้อยละ 27 การปล่อย CO2 ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชีย เมื่อพิจารณาการปล่อย CO2 ต่อ GDP ประเทศไทยมีค่าต่ำกว่าจีน และค่าเฉลี่ยของประเทศในเอเชียแต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปโดยสรุปประเทศไทยมีปัญหาด้านการจัดหาและการใช้พลังงาน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานและการปล่อยแก๊สเรือนกระจก รวมถึงปัญหาด้านมลพิษจากการจัดหาและการใช้พลังงาน ดังจะเห็นได้จากการนำเข้าพลังงานในสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 50 และการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจากภาคพลังงานต่อจีดีพีที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกรวมถึงมลพิษในเมืองใหญ่มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐานในบางช่วงเวลาประเทศไทยจำเป็นต้องมีนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น แผนพัฒนาพลังงานทดแทน แผนประสิทธิภาพพลังงาน ซึ่งนำมาใช้นานหลายปีแล้วอย่างไรก็ตาม ยังมีเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการบรรเทาปัญหาโดยช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น การจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) จากเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงฟอสซิล และหรือระบบซื้อขายสิทธิการปล่อย (Emission Trading System) คาร์บอนซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า เครื่องมือกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Instruments) ปัจจุบันมีใช้กันในหลายประเทศและหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก และในปีหน้า สิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียนจะเริ่มบังคับใช้การจัดเก็บภาษีคาร์บอน นโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในเมืองใหญ่ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกและลดมลพิษที่ปล่อยสู่บรรยากาศ
DOI: 10.14416/j.kmutnb.2019.04.008
ISSN: 2985-2145